อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ปรับขนาดตัวอักษร
ภาษา
สถานที่ท่องเที่ยว
วัดถ้ำเขาขุนกระทิง
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

เทศบาลตำบลขุนกระทิงเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งกรมศิลปากรได้สำรวจพบสถานที่ที่ก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์หรือสถานที่ที่พบร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตที่มีคุณค่าในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ซึ่งในเขตเทศบาลตำบลขุนกระทิงมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ 

วัดถ้ำเขาขุนกระทิง  ตั้งอยู่ที่เขาขุนกระทิง หมู่ที่ ๘ ตำบลขุนกระทิง เดิมวัดนี้เมื่อยังมิได้สร้างเป็นวัด มีภูเขาลูกหนึ่งตั้งอยู่กลางป่าเปลี่ยว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “เขานาพร้าว” เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด รูปร่างภูเขาคล้ายวงรี มีความยาวตามแนวทิศเหนือ - ทิศใต้ ประมาณ ๑ กิโลเมตร และมีความกว้างตามแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ประมาณ ๔๕๐ เมตร ยอดสูงสุดอยู่ทางตอนใต้ของภูเขาสูงประมาณ ๑๔๘ เมตร  จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีถ้ำประดิษฐานพระไสยาสน์อยู่ ๑ ถ้ำ สร้างแต่ครั้งไหนไม่ปรากฏ ต่อมาเมื่อมีถนนสายเอเชียตัดผ่านหน้าเขา จึงได้ทำการจับจองที่ดินเนื้อที่ ๑๒ - ๓ - ๙ ไร่ ตั้งเป็นสำนักสงฆ์อยู่หลายปี และได้ จดทะเบียนตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ชื่อว่า “วัดถ้ำเขาขุนกระทิง” และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๓๐ ในทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีขึ้นถ้ำ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ มีการปิดทองพระไสยาสน์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕  ตอนพิเศษ ๘๓ ง. หน้า ๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ เนื้อที่ประมาณ ๓๕ ตารางวา สิ่งสำคัญประกอบด้วย

1)       ถ้ำพระ  เป็นถ้ำอยู่สูงจากระดับพื้นประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร ถ้ำมีขนาดกว้างประมาณ  ๖.๒๐ เมตร ยาว ๑๑.๖๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน                    เป็นพระไสยาสน์ วัดจากพระบาทถึงพระเศียรยาวประมาณ  ๔.๖๐ เมตร สูง ๑.๘๐ เมตร ความกว้างบริเวณหมอนประมาณ ๑ เมตร หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก (หน้าถ้ำ) พระหัตถ์ขวาวางหนุน

พระเศียร มีแท่นทำเป็นหมอนรองรับ ครองจีวรห่มเฉียง สร้างด้วยดินดิบผสมและลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปถือว่าเป็นหลักเมืองของชุมพร ภายในถ้ำยังประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยอีก ๑๓ องค์ เป็นพระพุทธรูปสมัยหลังลงมา ส่วนพระไสยาสน์เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา

2)  รอยพระพุทธบาท  เป็นแผ่นหินปูนขนาดยาว ๑๓๒ เซนติเมตร กว้าง ๘๗ เซนติเมตร               หนา ๕ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่นหินจากปากถ้ำประมาณ ๑๕  เมตร รอยพระพุทธบาทสลักนูนต่ำ                ด้านนอกเป็นขอบพระพุทธบาท ตรงกลางฝ่าพระบาทเป็นรูปธรรมจักรมีกงล้อ ๗ ล้อ ล้อมรอบด้วยช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ๔๖ ช่อง ส่วนบนเป็นรอยนิ้วพระบาท ๕ นิ้ว รอยพระบาทนี้แตกเป็นสองชิ้น ชาวบ้านยึดต่อกันไว้ด้วยปูนซีเมนต์

3)  ภาพเขียนสี  เป็นภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อยู่บริเวณแนวเพิงผาหินก่อนขึ้นถ้ำพระ  ภาพเขียนสีเป็นภาพลายเส้นบนผนังหิน เขียนด้วยสีแดง มีลายเส้นตรง เส้นหยัก และวงกลม ส่วนใหญ่ของภาพลายเส้นเขียนต่อกันหรือเป็นส่วนของภาพเดียวกัน ยังแปลความไม่ชัดเจนว่าเป็นภาพอะไร เพราะบางส่วนของภาพถูกน้ำหินปูนเคลือบทับ แต่ดูจากภาพรวม ๆ แล้วสันนิษฐานว่าเป็นภาพเรือใบ

4)  พระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย  หน้าตัก ๑๔.๕ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๓๔.๕ เซนติเมตร               คณะสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคใต้กรมศิลปากรได้จากเขาขุนกระทิง และได้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๑ ต่อมาได้มอบไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร เมื่อ ๑๐  สิงหาคม ๒๕๔๐

 

 

แสดงความคิดเห็น
สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ